ข่าวและกิจกรรม

"พลังงานชีวมวล" โดดเด่นในไทย ผลักดันก้าวไกลใช้ประโยชน์ในอาเซียน

25 Feb, 2018
ปัจจุบันในหลายประเทศพยายามเลือกใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนรูปแบบต่าง ๆ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนมีความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากปัจจัยเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันและก๊าซอย่างมาก ในขณะเดียวกันพลังงานชีวมวลก็เป็นแหล่งพลังงานทดแทนที่สำคัญและโดดเด่นในประเทศไทย ซึ่งเรามีขีดความสามารถในการพัฒนาไปได้อีกมากและถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าจับตามอง

โดย ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในปัจจุบันประเทศไทยใช้พลังงานทดแทนหลากหลายรูปแบบ ปีล่าสุดมีการใช้เพิ่มขึ้นประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ของการใช้พลังงานทั้งประเทศ ถือว่าเป็นตัวเลขที่เยอะเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งพลังงานทดแทนรูปแบบแรก ได้แก่ เชื้อเพลิงชีวภาพ แก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล รูปแบบที่ 2 คือไฟฟ้า เช่น การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ พลังงานชีวมวล ได้แก่ เศษวัสดุทางการเกษตร แก๊สชีวภาพที่หมักจากขี้หมูหรือน้ำเสียได้เป็นแก๊สชีวภาพสามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้ และพลังงานลม คือกังหันลมผลิตไฟฟ้า และรูปแบบที่ 3 คือความร้อน เช่น ชีวมวลสามารถเผาให้ความร้อนได้โดยตรง ตู้อบแสงอาทิตย์ ซึ่งการใช้พลังงานทดแทนหลัก ๆ จะเป็น 3 รูปแบบนี้มีใช้อยู่ทั่วพื้นที่ภูมิภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะตู้อบแสงอาทิตย์ ไบโอดีเซล เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ง่ายสามารถผลิตเองได้ในชุมชน และมีการใช้กันมานานอย่างต่อเนื่อง

สำหรับพลังงานทดแทนที่โดดเด่นของประเทศไทย คือ “พลังงานชีวมวล” เพราะว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ดังนั้นจึงมีพวกผลิตผลเหลือใช้ทางการเกษตรมากมาย ได้แก่ แกลบ ชานอ้อย ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการส่งเสริมให้ใช้พลังงานทดแทนจึงเผาทิ้งหรือปล่อยทิ้งไว้อย่างไม่มีมูลค่า แต่หลังจากที่เราส่งเสริมวัสดุเหล่านี้ก็กลับมีคุณค่าและมีประโยชน์ขึ้นมา ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากพวกชีวมวลสามารถแพร่กระจายไปได้ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จึงเป็นพลังงานทดแทนที่นอกเหนือจากการนำสิ่งต่าง ๆ ที่เหลือใช้ มาใช้ประโยชน์แล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและชุมชนด้วย

ที่สำคัญในกลุ่มของเทคโนโลยีด้านชีวมวลสำหรับการผลิตความร้อนและพลังงานกระบวนการเผาไหม้เป็น กระบวนการที่ถูกใช้มากที่สุดในทุกประเทศในกลุ่มอาเซียน ยกเว้นบรูไนและสิงคโปร์ไม่มีหรือมีแหล่งทรัพยากร ชีวมวลที่จำกัด สำหรับประเทศไทย มาเลเซีย และเวียดนาม การเผาไหม้สำหรับการผลิตไฟฟ้า ความร้อนและการผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วม ถือเป็นการทำการค้าอย่างเต็มตัวกับประสิทธิภาพภายในประเทศสำหรับผู้ผลิต โครงการโรงผลิตพลังงานชีวมวลขนาดใหญ่ถูกดำเนินการในลาวและฟิลิปปินส์โดยบริษัทต่างชาติเท่านั้น ประเภทต่าง ๆ ของเทคโนโลยีส่วนใหญ่เป็นเตาไฟ และมีบางประเภทเป็นเตาเผาแบบใช้ตัวกลางนำความร้อน

สำหรับประเทศไทยเทคโนโลยีการเผาไหม้ชีวมวลถูกสร้างขึ้นเพื่อความร้อน พลังงานและพลังงานไฟฟ้าและความร้อนร่วมมีการรายงานว่าสมรรถนะของโครงการชีวมวลต่าง ๆ มีส่วนช่วยในการผลิตความร้อนได้มากกว่า 4,300 ตันเทียบเท่าน้ำมันดิบผลิตพลังงานได้เกือบ 2,000 มิลลิวัตต์ ในปี ค.ศ. 2013 และเกือบทั้งหมดของการใช้งานเทคโนโลยีการเผาไหม้ การผลิตก๊าซชีวภาพจะเปลี่ยนอินทรียวัตถุโดยผ่านกระบวนการทางชีววิทยาโดยปราศจากอากาศในก๊าซมีเทน (60 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งยังสามารถใช้ในการผลิตพลังงานได้อีกด้วย ประเทศไทยจึงถือว่าเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีในกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งสำหรับการพัฒนาและการดำเนินงานด้านการผลิตก๊าซชีวภาพ

พลังงานทดแทนที่โดดเด่นอีกประเภท คือเรื่องของเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ ประเทศไทยมีแสงแดดเยอะ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สามารถทำได้ เพราะเกือบทั่วภูมิภาคสามารถใช้เทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ได้ ยกเว้นภาคใต้ที่มีฝนมากอาจจะไม่ได้ปริมาณมากเท่าภาคอื่น ๆ ทั้งนี้เรื่องของการพัฒนาพลังงานทดแทน ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ายังมีต้นทุนสูงกว่าพลังงานทั่วไปอยู่ แต่ว่าทิศทางจะลดลงเรื่อย ๆ แล้วจากการพัฒนาของเทคโนโลยี เช่น ปัจจุบันต้นทุนการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ลดลงแล้ว สามารถส่งเสริมได้มากขึ้นโดยไม่เป็นภาระต่อคนอื่น

การพัฒนาพลังงานทดแทนควรทำควบคู่กับการสร้างแรงจูงใจให้คนมาผลิตพลังงานทดแทนด้วย เพื่อเป็นแรงจูงใจในการลงทุนสามารถทำให้คืนทุนเร็วขึ้นไม่ใช้เวลานานในการคืนทุน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางกระทรวงและรัฐบาลเข้ามาส่งเสริม รวมถึงเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น อี 85 เรามีการสนับสนุนส่วนหนึ่งเพื่อให้ราคาจูงใจคนจึงหันมาใช้มากขึ้น เพราะถ้ารอการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างเดียวมันอาจจะไม่ทำให้เกิดการพัฒนาการขยายการผลิตได้มากเท่าที่ควร จึงต้องมีมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐด้วย

ในขณะเดียวกันหากมองศักยภาพการผลิตพลังงานทดแทนของประเทศอื่นในอาเซียนเราพบว่าประเทศอินโดนีเซียและ มาเลเซียมีศักยภาพในการทำไบโอดีเซล แต่ว่าการใช้ยังไม่แพร่หลายเท่ากับประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยค่อนข้างมาไกลในเรื่องของพลังงานทดแทน เพราะเวลามีการจัดการประชุมและประกาศรางวัลระดับอาเซียน ชื่อประเทศไทยมักจะมาในระดับต้น ๆ ของอาเซียนที่ได้รับรางวัล แต่อย่างไรก็ตามประเทศอื่น ๆ ที่มีสมรรถภาพด้านพลังงานทดแทน ได้แก่ อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มีกำลังด้านพลังงานจากความร้อนใต้พิภพ ลาวและเมียนมามีศักยภาพด้านพลังงานน้ำ และเวียดนามมีจุดเด่นอยู่ที่การพัฒนาลม ซึ่งทุกประเทศสามารถแบ่งปันผลประโยชน์และความเชี่ยวชาญจากธรรมชาติได้เพื่อส่วนรวมของภูมิภาคประชาคมอาเซียน

นอกเหนือสิ่งอื่นใดหากทุกประเทศหันมาใช้พลังงานทดแทนจะสามารถช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมให้โลกของเราได้หลายประการ ซึ่งประการแรก คือถ้ามองในเรื่องของก๊าซเรือนกระจก คาร์บอนไดออกไซด์ พลังงานทดแทนโดยปกติมาจากพืช ซึ่งพืชจะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศมาสร้างใบ กิ่ง ก้าน ในส่วนนี้พอเรานำชีวมวลมาใช้ ถึงแม้จะมีการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มาแต่การปล่อยจะเป็นศูนย์ เพราะตอนที่พืชสร้างใบ กิ่ง เนื้อไม้มันก็ดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาผลิต เมื่อนำไปเผาก็คืนสู่กลับธรรมชาติเท่ากับไม่ได้สร้างอะไรเพิ่มขึ้น

ประการต่อมาเป็นพวกโซลาร์เซลล์ หรือลม เป็นพลังงานหมุนเวียนไม่มีวันหมดสามารถนำมาใช้ได้เรื่อย ๆ และไม่ได้ปลดปล่อยพวกสารพิษอะไรออกมาในกระบวน การผลิตพลังงาน จึงช่วยในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อม และประการสุดท้ายคือพลังงานขยะ ซึ่งรัฐบาลส่งเสริมในเรื่องของสิ่งแวดล้อมแทนที่ขยะจะหมักหมมไว้เกิดเป็นก๊าซมีเทนในอากาศและเกิดเป็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เราก็ดึงมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า ส่งผลให้ลดผลกระทบเรื่องของขยะได้ จึงถือเป็นเรื่องของเชื้อเพลิงที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม